เปลียนการแสดงผล

โครงการท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือคิตาคิวชูกับท่าเรือแหลมฉบัง

คิตาคิวชู เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะคิวชูประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ท่าเรือคิตาคิวชูเป็นท่าเรือที่มีสินค้าผ่านท่าสูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศญี่ปุ่น โดยมีสินค้าผ่านท่ากว่าปีละ 100 ล้านตัน มูลค่ากว่าแสนล้านเยน และมีการค้ากับไทยเป็นอันดับ 4 รองจากสหรัฐฯ เกาหลี และไต้หวัน

สาระสำคัญของข้อตกลงร่วมพอสรุปได้ดังนี้

  • การประชุมร่วม ท่าเรือทั้งสองจะจัดการประชุมร่วมพิจารณาปัญหาสำคัญที่ท่าเรือทั้งสองกำลัง เผชิญอยุ่ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลและวัตถุดิบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจการค้า การขนส่งทางน้ำของท่าเรือทั้งสองและท่าเรืออื่นๆ ท่าเรือทั้งสองและท่าเรืออื่นๆ โดยจะจัดประชุมเป็นประจำปีเว้นปี
  • ความร่วมมือระหว่างท่าเรือ การแลกเปลี่ยนบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมในวิชาการที่จำเป็นและจะเป็นประโยชน์ ต่อท่าเรือ การประชาสัมพันธ์กิจการให้กับอีกท่าเรือหนึ่งด้วยการใช้สื่อต่างๆ
  • การเข้าร่วมในกิจกรรมพิเศษของอีกท่าเรือหนึ่ง
  • การพิจารณาให้สิทธิพิเศษ ท่าเรือทั้งสองจะร่วมกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการให้สิทธิพิเศษแก่เรือ ที่ใช้เส้นทางประจำระหว่างท่าเรือทั้งสองหรือสิทธิพิเศษอื่นๆ อันจะส่งเสริมให้มีการใช้ท่าเรือทั้งสองมากขึ้น ทั้งนี้สิทธิพิเศษนั้นๆ จะต้องไม่ขัดต่อกฏระเบียบของแต่ละท่าเรือและเกณฑ์การปฏิบัติสากลทั่วไป

ผลการดำเนินงานตามข้อตกลงเป็นท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือคิตาคิวชู กับ ท่าเรือแหลมฉบัง

1.การส่งเสริมการใช้ ทลฉ.และท่าเรือคิตาคิวชู (Promotion of Laem Chabang Port and Kitakyushu Port )

1.1 ส่งเสริมให้สายการเดินเรือในกลุ่ม Nippon Yusen Kaisha (NYK) และ Siam Paetra International Co. (SPIC) เปิดเส้นทางเดินเรือผ่านท่าเรือคิตาคิวชูและ ทลฉ.

1.2 ท่าเรือคิตาคิวชูได้ลดค่าภาระการใช้ท่าเทียบเรือ และการใช้เครนหน้าท่าแก่เรือคอนเทนเนอร์ที่มาใช้ท่าเทียบเรือคิตาคิวชูลง 20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2537 และ ทลฉ.ได้ให้ส่วนลดแก่เรือที่มีระวาง 6,000 ตันกรอสขึ้นไป โดยจะได้รับส่วนลด 4 บาท / ตันกรอส สำหรับเรือที่มาจากคิตาคิวชู ซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2544

1.3 ทลฉ. กำลังศึกษาโครงสร้างค่าภาระเพื่อสนับสนุนให้มีการขนถ่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ระหว่างท่าเรือทั้งสองมากยิ่งขึ้น

2. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ (Information Exchange and Publicity Activities)

2.1 มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออกเป็นรายปี โดยมีการแยกประเภทของสินค้าและปริมาณของสินค้าแต่ละท่าเรืออย่างชัดเจน

2.2 ท่าเรือคิตาคิวชูและ กทท. ได้ทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูล ในวารสารประชาสัมพันธ์ต่างๆ

2.3 ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นชอบที่จะปฏิบัติงานร่วมกันในการปรับปรุงแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทันสมัยแก่ กันอยู่เสมอ และรวมถึงการแลกเปลี่ยนสื่อต่างๆ ในด้านการประชาสัมพันธ์ เช่น โบชัวร์, วิดิทัศน์ และวีซีดี (VCD)

3. การแลกเปลี่ยนผู้ฝึกอบรม (Exchange Trainees)
ท่า เรือคิตาคิวชูและ กทท. ได้มีการแลกเปลี่ยนด้านการฝึกอบรมทุกปี โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาท่าเทียบเรือ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารและการจัดการท่าเรือ ด้านคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ของทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือคิตาคิวชู ในอันที่จะเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงหรือประยุกต์ใช้กับการทำงาน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับการปฏิบัติงานในองค์กร

4. การประชุมท่าเรือพี่น้อง (Sister Port Conference)
ท่า เรือคิตาคิวชูและ กทท. ได้ตกลงให้มีการประชุมทุกๆ 2 ปี โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพและประเทศเจ้าภาพจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการประชุม เว้นแต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาประชุมของผู้แทนอีกท่าเรือหนึ่ง ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมแล้ว